โควิด-19: ความสับสนของคำสั่งปฏิบัติและความเสี่ยงของผู้นำชุมชน

ผมมีอาชีพทํานา ทั้งนาปี นาปรัง เมื่อต้นปี 2563 ทําข้าวนาปรังเจอภาวะฝนแล้งและโรคอีบั่วระบาดในนาข้าว ทําให้ต้นทุนในการทํานาสูงมาก ประจวบกับเกิดโรคระบาดทําให้เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวได้น้อยเกือบขาดทุน บังเอิญราคาข้าวดี

อีกส่วนหนึ่งคือ ผมเป็น อสม. และตั้งแต่ปลายปีที่แล้วถึงขณะนี้มีการระบาดของโรคโควิด-19 จึงต้องทํา

หน้าที่อย่างโกลาหล มีแต่คำสั่งที่ต้องทำตามโดยไม่คํานึงถึงผู้ปฏิบัติ จนบางครั้งเกิดความสับสนกับคําสั่ง  เช่น ช่วงเช้าสั่งให้ตั้งด่านวังเป็ด กลางวันให้ย้ายไปหน้าวัดโพธิ์ทอง พอตอนบ่ายมีคําสั่งให้ย้ายไปหน้าเทศบาลตําบลบางระกําเมืองใหม่ และนอกจากนี้ ให้จัดตั้งด่านในชุมชน โดยขาดความพร้อม ไม่มีอุปกรณ์วัดไข้ ซึ่งเราก็ประสานเตรียมบุคลากรในชุมชน เครื่องมือ เต็นท์พร้อม แต่ไม่มีคําสั่งจากท้องถิ่น และต้องรออุปกรณ์และคําสั่ง กว่าจะพร้อมก็ใช้เวลา 1-2 วัน 

อีกคําสั่งหนึ่งที่สร้างความวุ่นวายให้กับ อสม. และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ คือ เรื่องให้ อสม. หมู่ละ 2-3 คน ออกไปวัดไข้คนในหมู่บ้าน/ชุมชนให้ได้ 100% ทุกวัน และต้องคีย์ข้อมูลส่งผ่านมือถือทุกวันทุกคน ซึ่งคําสั่งนี้เป็นการขอความร่วมมือของ ปภ.จังหวัด ผ่านเจ้าหน้าที่สาธารณะสุข เป็นการทํางานเชิงรุก ซึ่งเราก็ทําทั้งที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 อย่างมาก พอสิ้นเดือนให้ อสม.นําเอกสารและไปเซ็นชื่อเพื่อรับเงิน ซึ่งในเอกสารระบุให้รับ 240 บาทต่อวัน วันรุ่งขึ้นบอกว่าให้ไปเซ็นใหม่เพราะว่าจะได้เงิน 120 บาทต่อวัน ซึ่งทําให้ อสม. บางคนไม่พอใจและเกิดความข้องใจ จึงมีการนัดประธาน อสม. แต่ละอําเภอไปพูดคุยที่ ปภ.จังหวัดโดยมีผู้ว่าฯเข้าร่วมด้วย

ข้อสรุปคือ ไม่สามารถจ่ายค่าแรงให้ อสม. ได้ เพราะไม่มีระเบียบรองรับ ทางจังหวัดจะช่วยสนับสนุนเป็นค่าอาหาร แต่ทางชมรม อสม.จังหวัด เห็นว่าจะเป็นการทําเอกสารเท็จเพราะ อสม.บางคนห่อข้าวไปกิน ท้ายที่สุด ทางจังหวัดบอกว่าจะหาทางเยียวยาให้ภายหลัง คงติดตามต่อไป นี่คือส่วนหนึ่งในช่วงโควิด-19 ระบาด ในฐานะผู้นําชุมชน